เรียบเรียงโดย พญ.วนิดา พิสิษฐ์กุล
กุมารแพทย์ รพ.ธนบุรี 2
โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (ท้องเสีย, อุจจาระร่วง,ลำไส้อักเสบ) เกิดขึ้นได้จากเชื้อหลายชนิด แต่การติดเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคติดเชื้อทางเดินอาหารในเด็ก ซึ่งเชื้อไวรัสที่พบบ่อยที่สุดคือเชื้อไวรัสโรต้า นอกจากนี้ยังพบเชื้อไวรัสตัวอื่นๆอีก ได้แก่ โนโรไวรัส (Norovirus) เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus)และอดีโนไวรัส (Adenovirus)
เรามาทำความรู้จักไวรัสโรต้ากันหน่อยนะคะ เชื่อว่าคงจะเคยได้ยินชื่อไวรัสตัวนี้มาบ้าง เพราะในช่วงปลายปี พศ.2560-2561 พบมีการระบาดอย่างมาก ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ไวรัสโรต้า เป็น ไวรัสในกลุ่มอาร์เอ็นเอ (double-stranded RNA viruses) มี 9 สายพันธ์ใหญ่คือ A ถึงI สายพันธุ์ A พบบ่อยสุด ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อยแบ่งตามโปรตีนบนผิวเซลล์คือ G และ P สายพันธุ์ย่อยที่พบบ่อยคือ G1,G2,G3,G4,G9
เนื่องจากมีหลายสายพันธุ์ทำให้พบการติดเชื้อได้หลายครั้ง อาการจะรุนแรงในการติดเชื้อครั้งแรก และจะน้อยลงเรื่อยๆในการติดเชื้อครั้งต่อๆไป เด็กเกือบทุกคนในโลกนี้เมื่ออายุ 5ปีมักจะเคยติดเชื้อนี้มาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง พบการติดเชื้อในผู้ใหญ่และผู้สูงวัยได้บางครั้งอาจมีอาการรุนแรงได้แบบที่พบในเด็กได้เช่นกัน
ไวรัสโรต้า สำคัญอย่างไร
เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อทางเดินอาหารได้รุนแรงสุด ทำให้เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลมากที่สุดในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินอาหารในเด็ก เด็กเล็กจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต เป็นซ้ำได้หลายครั้ง กระจายเชื้อเร็ว เชื้อมีความคงตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นสัปดาห์ถึงเดือน ผู้ติดเชื้อขับเชื้อออกมาทางอุจจาระได้หลายล้านตัวแต่ ผู้ได้รับเชื้อแค่ 10 ตัวก็ติดเชื้อได้แล้ว
ไวรัสโรต้า ติดต่อได้อย่างไร
ไวรัสโรต้าเข้าสู่ร่างกายทางปากโดย อาจสัมผัสผู้ป่วยทั้งโดยตรงหรือทางอ้อมเช่นของเล่น เสื้อผ้า ของใช้ อาเจียนหรืออุจจาระผู้ป่วย รับเชื้อผ่านน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อน รับเชื้อผ่านทางภาชนะอาหารหรือแก้วน้ำที่ปนเปื้อน จากข้อมูลองค์การอนามัยโรคพบว่ามีการติดต่อทางการหายใจได้ด้วย
อาการของโรคติดเชื้อทางเดินอาหารจากไวรัสโรต้า
หลังรับเชื้อไวรัสโรต้า โดยมีระยะฟักตัว 2 วันจะเริ่มมีอาการ อาเจียน ไข้สูง ในเด็กเล็กอาจมีอาการชักจากไข้สูงได้ (หรืออาจไม่มีไข้ได้) ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ เบื่ออาหาร อาจพบอาการหวัดร่วมด้วย จะมีอาการ 3-8 วัน อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือภาวะขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ โดยผู้ป่วยจะมีอาการ ริมฝีปากแห้ง ลิ้นแห้ง ใต้ตาลึกโบ๋ ร้องไห้ไม่มีน้ำตาไหล ปัสสาวะน้อย อ่อนเพลีย กระวนกระวาย เวียนศีรษะ ไม่มีแรง เป็นมากจะพบภาวะช็อกหรือความดันโลหิตต่ำ และตามมาด้วยไตวายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้
การดูแลรักษาโรคติดเชื้อทางเดินอาหารจากไวรัสโรต้า
ไม่มีการักษาที่เฉพาะเจาะจง เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้และเช็ดตัวเวลามีไข้ ให้ยาแก้อาเจียน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยการสูญเสียสารน้ำและเกลือแร่ โดยการดื่มทีละน้อยแต่บ่อยๆ ควรงดทานดื่มนม ยกเว้นนมแม่ หรือให้นมที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโตส(lactose free) งดทานผักผลไม้ไปก่อน (ยกเว้นกล้วยและฝรั่ง) ทานอาหารอ่อนย่อยง่ายสามารถทานข้าวต้มหรือน้ำข้าวใส่เกลือได้
แล้วอาการแบบไหนที่ต้องไปพบแพทย์กันบ้างนะคะ
อาการไข้สูงชัก อาเจียนมากทานไม่ได้อาจต้องให้ยาฉีดแก้อาเจียน มีอาการของภาวะขาดน้ำตามที่กล่าวมาข้างต้น ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณารับเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำทางเส้นเลือดและแก้ไขภาวะขาดเกลือแร่
เรามีวิธีป้องกันโรคนี้ได้อย่างไรบ้าง
วิธีที่ดีที่สุดคือการรักษาอนามัยส่วนบุคคล การล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร หลังการเข้าห้องน้ำ ขับถ่าย รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่สะอาด ผู้ดูแลผู้ป่วยควรล้างมือให้สะอาดและนานๆ โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือสัมผัสอาเจียนและอุจจาระของผู้ป่วย ล้างของเล่นและทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมของเด็กให้ทั่วถึงอยู่เสมอ การรับประทานอาหารร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางและไม่ใช้ภาชนะอาหารร่วมกัน ในเด็กเล็กการดื่มนมแม่ก็จะช่วยป้องกันโรคท้องเสียจากเชื้อไวรัสได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ดีแม้จะดื่มนมแม่และรักษาสุขอนามัยที่ดีก็ยังสามารถติดเชื้อไวรสโรต้าได้เนื่องจากเชื้อคงทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน
มีวัคซีนป้องกันโรคโรต้าไหม
มีวัคซีนป้องกันโรคโรต้าโดยการหยอดทางปากในเด็กเล็ก มี 2 ชนิด แบบหยอด 2 ครั้งและ 3 ครั้ง โดยที่ทั้ง 2ชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่ต่างกัน โดยการหยอดครั้งแรกอายุ 6-15 สัปดาห์ ครั้งสุดท้ายไม่เกินอายุ 8 เดือน เด็กที่ได้รับวัคซีนโรต้าครบแล้ว อาจเกิดการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้อีกแต่อาการจะลดความรุนแรงลง ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าเด็กเล็กทุกคนควรได้รับการหยอดวัคซีนโรต้าตั้งแต่อายุ 2 เดือน
ดังนั้นการจะเสริมสร้างความแข็งแรงและมีสุขภาพดีของเด็กนั้นควรเริ่มตั้งแต่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ทั้งอาหารการปฏิบัติตัว จนคลอดมาลูกน้อยควรได้ดื่มนมแม่และได้รับวัคซีนตามแพทย์นัด สอนลูกน้อยให้รู้จักการดูแลรักษาอนามัยส่วนบุคคลตั้งแต่เด็กให้ติดเป็นนิสัย ทานอาหารครบหมู่ปรุงสุกสะอาดใหม่ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด นอนพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรง เด็กในวันนี้จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงมีคุณภาพในวันข้างหน้าค่ะ
(ข้อมูลจากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย พศ.2561, องค์การอนามัยโรค WHO2019 และCDC2019 )
ผ้ายกตัวผู้ป่วย goodnite ยกผู้ป่วยโดยไม่ต้องอุ้ม ยกขึ้นรถ เคลื่อนย้ายเข้าหรือออกจากรถเข็น
เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
บริการพาไปหาหมอ บริการพาไปหาหมอราคา พาผู้สูงอายุไปหาหมอ รับพาผู้สูงอายุไปหาหมอ
เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร