คนเราเมื่อมีสิ่งต้องคิดต้องทำเยอะๆ มักหลงลืมกันบ้าง เป็นเรื่องปกติ แต่การหลงลืมมีหลายรูปแบบ และพบได้บ่อยครั้งโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อาการลืมบางอย่าง อาจเป็นสัญญาณเตือน การเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมประเภท “อัลไซเมอร์” ThaiSenior ขอเสนอ 10 พฤติกรรมเข้าข่ายอัลไซเมอร์ เพื่อสำรวจตัวเองหรือคนในครอบครัว รายละเอียด ของเชิญรับชมครับ
1. หลงลืมในเรื่องที่ไม่น่าลืม มีความจำที่แย่ลง
หลงลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่าความจำระยะสั้น เช่น ลืมวันหรือเหตุการณ์สำคัญที่เพิ่งผ่านมา ทั้งๆที่ไม่ควรลืม เช่น ลืมการฉลองวันเกิดคนในครอบครัวที่เพิ่งผ่านมา หรือมักถามคำถามเดิมซ้ำๆ เพราะลืมไปแล้วว่าเคยถาม หรือได้รับคำตอบแล้ว แต่ในกรณีหลงลืมเพียงครั้งคราว เวลาผ่านไปนึกขึ้นได้หรือจำได้ แบบนี้จะไม่ใช่อาการของ โรคอัลไซเมอร์
2. บกพร่องในขั้นตอนที่เคยทำเป็นประจำ
ใช้เวลานานขึ้นในการทำกิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้ง่าย เช่น ตักอาหาร รับประทานอาหาร รวมถึงกิจวัตรที่มีขั้นตอนซับซ้อนทำได้ช้าลงหรือทำไม่ได้ เพราะจำขั้นตอนไม่ได้ เช่น ลืมติดกระดุมเสื้อ ทำอาหารแล้วลืมใส่เครื่องปรุง หรือใส่ซ้ำโดยไม่รู้ตัว และอาจมีปัญหาในการดูแลตัวเอง เช่น การอาบน้ำ แปรงฟัน ขับถ่าย ทำได้แต่ทำไม่ถูกต้อง
3. ลืมเส้นทาง หลงทาง สิ่งที่เคยทำได้ดีกลับทำได้แย่ลง
ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน งานที่คุ้นเคย กลับรู้สึกทำได้ยาก ลืมเส้นทางที่เคยไปเป็นประจำ เช่น เส้นทางกลับบ้าน สูญเสียทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน ลืมวิธีการใช้โทรศัพท์ การใช้เครื่องไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำเป็นประจำไม่ได้ซับซ้อน
4. สับสนเรื่องวัน เวลา และสถานที่
มักสับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ ฤดูกาล หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆได้อย่างไร และไปทำไม จะต่างกับกรณีลืมว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ วันนี้เป็นวันอะไรของสัปดาห์ ซึ่งการลืมแบบนี้จะสามารถนึกออกได้ภายหลัง
5. ไม่เข้าใจในภาพที่เห็น ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างภาพกับตัวเอง
เมื่อเดินผ่านกระจกหรือส่องกระจก จะไม่รู้ว่านั่นคือภาพของตัวเองในกระจก ไม่รู้ว่านั่นคือกระจก คิดว่าเป็นอีกห้องหนึ่งที่มีคนอื่นอยู่ในนั้น จะแตกต่างกับกรณีความเข้าใจผิดที่เกิดจากสายตาไม่ดีของผู้สูงอายุ
6. มีปัญหาในการพูด การเขียน การเลือกใช้คำ
ระหว่างสนทนาอาจจะมีการหยุดพูด เพราะนึกคำไม่ออก ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร หลงลืมข้อมูลที่เคยจำได้ เมื่อพูดออกมาก็มักเรียงลำดับคำผิด พูดซ้ำๆ หรือเรียกชื่อสิ่งของผิด เช่น ปากกา จาน ช้อน
7. ลืมของ วางของผิดที่ผิดทาง
มักวางของผิดที่แต่ไม่รู้ตัวว่าเป็นการวางของผิดที่ เช่น วางรีโมทแอร์บนตู้เย็น เมื่อจะหาของที่ปกติเก็บไว้ที่เดิม กลับหาไม่เจอ เพราะนึกไม่ออกว่าปกติเก็บไว้ที่ไหน บางครั้งไปหาสิ่งของเหล่านั้นในที่ที่ไม่น่าจะไปวาง โทษว่ามีคนอื่นเปลี่ยนที่วาง หรือถูกขโมยไปแล้ว
8. สูญเสียการตัดสินใจที่ถูกต้อง ความสามารถในการตัดสินใจลดลง
มีพฤติกรรมการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง เช่น เมื่อต้องออกไปทำธุระสำคัญนอกบ้าน กลับไม่อาบน้ำ แต่งตัว หวีผม เหมือนที่ทำปกติ โดยคิดว่าตัวเองทำถูกต้องแล้ว กรณีแบบนี้ไม่ใช่ความขี้เกียจ หรือไม่ให้ความสำคัญ แต่เกิดจากการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลตามที่ควรจะเป็น
9. มีการแยกตัวและลดการเข้าสังคมลง
ไม่ทำกิจกรรมที่เคยชอบทำ ไม่อยากทำงานที่เคยทำ ไม่อยากพบปะผู้คน เฉื่อยชา ไม่สนใจต่อสิ่งต่างๆ เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง เพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่ากำลังมีปัญหา เช่น นึกคำพูดไม่ออก ทำกิจกรรมที่ต้องทำไม่ได้เหมือนเคย จึงแยกตัว ไม่อยากไปไหน
10. อารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป
มีอารมณ์หงุดหงิดง่ายเมื่อไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย บางครั้งมีอาการสับสน หวาดระแวง ซึมเศร้า วิตกกังวล ปรับตัวไม่ได้ แม้ว่าออกจากสถานที่หรือสถานการณ์นั้นมาสักพักแล้ว
ThaiSenior เห็นว่าการรู้จักสังเกตทั้งตนเองและคนในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทั้ง 10 พฤติกรรมที่กล่าวมาเป็นการเปลี่ยนแปลง 4 ด้านด้วยกัน คือ
1. ด้านความจำ
2. ด้านความคิด
3. ด้านคำพูด
4. ด้านพฤติกรรมหรือการกระทำ
การสังเกตหากพบข้อใดข้อหนึ่ง อาจเฝ้าดูสักระยะหากพบว่ายังคงเกิดซ้ำ หรือพบข้ออื่นๆเพิ่มเติม เริ่มส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรหาโอกาสไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องตามอาการ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ปัญหาผมร่วง หรือผมบาง เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความหนักใจให้กับผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เมื่ออายุเพิ่มข
แม้ว่าการคันทวารหนักจะพบได้ในทุกวัย แต่ก็พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากความย
ลำไส้อุดตัน คือภาวะที่สิ่งต่างๆ ในลำไส้ ทั้งน้ำ อาหาร น้ำย่อย และของเหลวต่างๆ ไม
หากพูดว่า “สมองฝ่อ” เรามักสงสัยว่า เมื่ออายุของเราเพิ่มมากขึ้น จะสามารถเป็นโรคสม
ในวัยสูงอายุ เรามักพบว่า มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง และมีโรค
สมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุโดยจำนวนอายุที่เพิ่มมากขึ้นจะเพิ่มความ