ยาไม่ทำให้ไตวาย ถ้าใช้อย่างถูกต้อง

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยมีผู้ป่วย โรคไตเรื้อรัง 1.12 ล้านคน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าโรคไตเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบได้มากที่สุดในผู้สูงอายุ เนื่องจากการทำงานของไตเสื่อมถอยลง สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องทานยาต่อเนื่องเพื่อรักษาโรคประจำตัว อาจกังวลว่าจะเสี่ยงเป็นโรคไตได้หรือไม่ วันนี้ ThaiSenior มีกรณีศึกษาผู้ป่วยที่ถึงแม้ว่าจะหยุดทานยา แต่ยังคงเป็นโรคไต รวมทั้งข้อมูลอื่นๆที่น่าสนใจ รายละเอียดขอเชิญรับชมครับ

กรณีศึกษาเป็นข้อมูลจาก Facebook เพจเรียนหมอ โดยคุณหมอได้โพสเรื่องของผู้ป่วยเบาหวานรายหนึ่ง ขาดยา 2 ปี ไม่มารักษา เพราะเชื่อคนข้างบ้านบอกว่า ถ้าทานยาเยอะจะทำให้ไตวาย ผู้ป่วยเลยไม่ยอมทานยา จนเริ่มมีอาการ ปัสสาวะกลางคืนวันละ 5-6 ครั้ง ปัสสาวะเป็นฟอง ตาเริ่มพร่ามัว ชาปลายมือปลายเท้า จึงมาโรงพยาบาลเจาะเลือดตรวจพบว่าเป็นโรคไต ผู้ป่วยสงสัยไม่ได้ทานยาแล้วเป็นโรคไตได้อย่างไร

คุณหมอได้อธิบายไว้ดังนี้ ยาไม่ได้ทำให้ไตวาย แต่โรคเบาหวานที่คุมไม่ได้ต่างหากที่ทำให้ไตวาย เนื่องจากไตทำงานหนักจนเสื่อม การทานยาและปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาล ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเบาหวานทำให้เลือดเสมือนเป็นน้ำเชื่อม ผ่านไปไต ไตก็เสื่อม ไปที่ตา ตาก็บอด ไปที่เส้นประสาทก็เสื่อม พังทุกอวัยวะ สุดท้ายผู้ป่วยรายนี้เป็นทั้งโรคเบาหวานและโรคไต

โรคไตเรื้อรัง
คือ สภาวะที่ไตถูกทำลายนานติดต่อกันเกิน 3 เดือน มักไม่มีอาการชัดเจนในระยะแรก ทำให้หลายคนไม่รู้ตัวจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะไตวาย การตรวจคัดกรองโรคไตตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการชะลอความเสื่อมของไตและลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

สัญญาณเตือนโรคไต
คือ เหนื่อยง่าย บวม ปวดสีข้างด้านหลัง ปัสสาวะน้อยมากหรือปัสสาวะมีฟอง เพื่อให้มั่นใจ วิธีที่ได้ผลชัดเจนที่สุดคือ การเจาะเลือดตรวจ เพื่อตรวจการทำงานของไต

ใครบ้างมีความเสี่ยงเป็น โรคไต
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับ
- ทานอาหารรสจัด รสเค็มหรือมีโซเดียมสูง
- ทานยาแก้ปวด แก้อักเสบ ชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นต้น ใช้บ่อยเกินไปอาจทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไตลดลง
- ทานยาปฏิชีวนะ กลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) เช่น สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) หากใช้ผิดวิธี อาจสะสมและทำลายไตได้
- ทานยาสมุนไพร ยาลูกกลอน ไม่ได้มาตรฐาน อาจมีสารปนเปื้อนที่เป็นพิษต่อไต
- คนในครอบครัวเป็นโรคไตที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

ยาไม่ได้ทำให้ไตวาย ถ้าใช้ถูกต้อง
การทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของไตวาย ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ยิ่งควรทานยาให้สม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงไตวายจากโรคเหล่านี้ ดังนั้น ความเชื่อที่ว่า กินยามาก กินต่อเนื่องแล้วเป็นไตวาย เป็น ความเข้าใจผิด ยาไม่ได้ทำให้เป็นไตวาย ถ้าใช้ถูกต้อง เหมาะสม อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ควรพบแพทย์ทุก 3-4 เดือน เพื่อติดตามอาการ ตรวจเลือด และมีการตรวจสุขภาพปีละครั้ง รวมทั้งดูแลตนเองรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และออกกำลังกาย ทำได้ดังนี้ จะห่างไกลจากโรคไตได้ครับ


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคกระดูกและข้อ ในผู้สูงอายุ

โรคกระดูกและข้อที่มักพบในผู้สูงอายุ คือ โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก

โรคผิวหนัง อาการคัน และผื่น กับวัยของผู้สูงอายุ

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ ผิวหนังจะเริ่มเหี่ยวลง และอาจมีอาการคันมาก มีผื่นขึ

ผู้สูงอายุ กับการมองเห็นและสภาวะสายตา

ในช่วงวัยสูงอายุ ถ้าจะพูดกันอย่างขำขัน จะพูดว่าเป็นช่วงวัยที่มีสายต

ดูแลสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์ โรคร้ายทำลายผู้สูงอายุ

โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ที่พบในผู้สูงอายุได้บ่อยไม่แพ้โรคอื่น แม้ว

ภาวะสมองฝ่อ เกิดกับผู้สูงอายุทุกคนหรือไม่ และจะป้องกันอย่างไร

หากพูดว่า “สมองฝ่อ” เรามักสงสัยว่า เมื่ออายุของเราเพิ่มมากขึ้น จะสามารถเป็นโรคสม

รักษาโรคไตวาย ด้วยการออกกำลังกายกันดีกว่า

ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่สภาพร่างกายอ่อนแอลง และมักมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสู