อาการสมองเสื่อม ชะลอได้ใน 8 วิธี



สมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุโดยจำนวนอายุที่เพิ่มมากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นด้วย เป็นปัญหาที่สำคัญเนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อสุขภาวะของผู้สูงอายุและบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ดูแล เนื่องจากอาการที่สำคัญของภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ การเสื่อมลงของความทรงจำ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เช่น การดูแลในชีวิตประจำวัน การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ และบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก

อาการของโรคสมองเสื่อมมักเกิดขึ้นช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป  และทุกคนไม่จำเป็นต้องมีอาการทุกอย่าง อาจมีเฉพาะบางอาการก็ได้ และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ บางทีดูเหมือนคงที่อยู่สักระยะหนึ่งแต่มักจะเลวลงต่อไป ในระยะต่อมาจะมีพฤติกรรมและบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลไป เช่น ก้าวร้าว และความทรงจำความนึกคิด และการมีเหตุมีผลจะเสื่อมลงอย่างมาก เมื่ออาการถึงขั้นรุนแรง ความจำ การตัดสินใจ และการใช้เหตุผลสูญเสียไปทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ อาจนอนนิ่งๆ อยู่บนเตียง ไม่เคลื่อนไหว และอาจเสียชีวิตได้จากภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อที่ปอด เป็นต้น

วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ประสาท มีดังนี้

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย โดยลดการทานอาหารที่มีไขมันสูง ทานอาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีกากใยสูง เน้นอาหารที่มีผักผลไม้มาก เพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ทานอาหารที่มีสารอาหารที่ช่วยบำรุงการทำงานของสมอง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด ของหมักดอง อาหารที่ใส่ผงชูรส เครื่องดื่มชา กาแฟ โคล่าซึ่งมีปริมาณสารคาเฟอีนสูง

2. อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ่ายเทสะดวก สะอาด ไม่แออัด ไม่มีมลภาวะ ฝุ่นละออง สารเคมี หรือเสียงดังเกินไป

3. ออกกำลังกายในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์

4. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อมิให้สมองทำงานหนักหรือเหนื่อยล้ามากเกินไป

5. หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเครียด หรือรู้จักวิธีการผ่อนคลายความเครียด เนื่องจากความเครียดที่รุนแรงหรือ ยาวนานเกินไปจะส่งผลให้สมองมีการทำงานผิดปกติ และควรงดการสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด

6. เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเพื่อกระตุ้นความตื่นตัวของสมองในการได้ทดลองประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น ร้องเพลง เล่นเกม เต้นรำ การมีโอกาสได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ได้ร่วมรำลึกความหลังด้วยกัน เป็นต้น

7. ฝึกฝนการใช้ความคิด หรือฝึกความจำอย่างสม่ำเสมอ เช่น คิดเลขเมื่อไปจ่ายตลาด บวกเลขทะเบียนรถ เป็นต้น

8. จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะดวก ปลอดภัย ไม่มีพื้นที่เสี่ยงให้ลื่นล้มได้ เช่น อาจมีราวจับในห้องน้ำ พื้นแห้งไม่เปียกลื่น มีแสงสว่างพอเพียง ระมัดระวังของมีคม และไม่เปลี่ยนแปลงสถานที่จัดวางสิ่งของบ่อยๆ

แม้ว่าอาการสมองเสื่อม หรือผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะรักษาไม่หาย แต่การดูแลอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตนที่ดี ก็ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุได้มาก


บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูแลตัวเอง เมื่อเป็นโรคตาแห้ง

ผู้สูงอายุ มักมีอาการต่างๆ ในทางที่ไม่ดี หรือเจ็บป่วยได้บ่อย เนื่องจากสภาพร่างกายที่เสื่อมถอย และการทำ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อปวดหลังช่วงล่าง

ผู้สูงอายุ มักปวดหลังเป็นประจำ ทำให้จะลุกจะนั่งก็ลำบากจากอาการเจ็บปวดทรมาน ซึ

ป้องกันอาหารเป็นพิษในผู้สูงอายุ

แม้ว่าอาการอาหารเป็นพิษ จะเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ในวัยสูงอายุ ซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำกว

ผู้สูงอายุทั้งหลาย วันนี้ท่านออกกำลังกายแล้วหรือยัง

การออกกำลังกาย เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนควรปฏิบัติ เพราะช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแร

เสียสุขภาพจิต เสียคุณภาพชีวิต เพราะเป็นลำไส้อุดตัน

ลำไส้อุดตัน คือภาวะที่สิ่งต่างๆ ในลำไส้ ทั้งน้ำ อาหาร น้ำย่อย และของเหลวต่างๆ ไม

ต้อกระจก และต้อหิน สองโรคนี้ต่างกันอย่างไร?

โรคทางตาที่เรามักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งตัวผู้สูงอายุเองก็กลัวที่จะเป็น เพราะอาจส่งผล