เมื่อโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” สัดส่วนจำนวนประชากร “ผู้สูงวัย” เพิ่มมากขึ้นพร้อมกับปัญหาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ ถึงแม้ว่าวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันจะก้าวไกลไปมาก แต่ในการค้นคว้าศึกษาการรักษาและป้องกันโรคบางโรค ยังคงอยูในความมืดมน
“อัลไซเมอร์” เป็นหนึ่งในโรคที่การแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่สามารถคิดค้นวิธีการป้องกันและรักษาได้ ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี ในปัจจุบันมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณ 44 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยจากการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2555 มีจำนวนผู้ป่วยขึ้นทะเบียน ประมาณ 600,000 ราย ซึ่งในความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยอาจมีมากถึง 1 ล้านคนแล้วในขณะนี้
อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่มักเริ่มจากอาการ “หลงลืม” ซึ่งญาติหรือผู้ดูแล และแม้กระทั่งแพทย์เอง อาจมองข้ามสัญญาณเหล่านี้และคิดว่าเป็นอาการปกติของผู้สูงวัย จนกระทั่งอาการของโรคทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนญาติหรือผู้ดูแลไม่สามารถดูแลได้ กลายเป็นปัญหาข้อขัดแย้งในครอบครัว และส่งผลให้ผู้ป่วยถูกทอดทิ้ง ละเลย และถูกทำร้ายได้ในบางกรณี
อาการหลักของโรคอัลไซเมอร์มักจะพบบ่อย ประมาณ 70-90% ของผู้ป่วย คือ การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาทิ พูดซ้ำ หลงลืม ก้าวร้าว พูดคำหยาบ สับสน เกิดภาพหลอน ซึ่งญาติหรือผู้ดูแลมักจะไม่เข้าใจ และไม่สามารถรับมือกับพฤติกรรมเหล่านี้ได้ และโดยส่วนใหญ่การดูแลมักจะจบลงด้วยการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว และการไม่ใส่ใจกับผู้ป่วย ซึ่งส่งผลให้อาการของโรคทรุดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่ถูกต้อง ผู้ดูแลต้องใช้ความอดทน และเข้าใจในอาการป่วยของโรคอย่างถ่องแท้ ต้องทำความเข้าใจว่า ทำไม ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ถึงมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สิ่งที่ผู้ดูแลควรเข้าใจเป็นอันดับแรก คือ สาเหตุและอาการของโรค
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือ ผู้ป่วยที่มีความมีความผิดปกติของการทำงานของสมอง ที่ส่งผลต่อการรับรู้ การสื่อสาร และความจำ กอร์ปกับผู้ป่วยบางรายมีความเสื่อมของประสาทสัมผัส เช่น หู ตา รสชาติ ร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยมีข้อจำกัดมากมายในการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ต้องพึงระลึกเสมอว่า ด้วยความบกพร่องของอวัยวะทำให้ผู้ป่วยจะมี “โลก” ของตนเองที่ไม่เหมือนคนปกติทั่วไป ลองนึกจินตนาการว่าหากวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาและไม่สามารถมองเห็นวัตถุสิ่งของชัดเจนเหมือนเคย ไม่สามารถได้ยินเสียงที่คนรอบข้างพูดได้ถนัด เพราะมีเสียงรบกวนภายในหูอยู่ตลอดเวลา หยิบจับสิ่งของต่างๆก็ไม่ถนัดเพราะกะระยะไม่ถูก แถมนึกคำพูด นึกชื่อคน นึกเรื่องราวต่างๆไม่ออก ถ้าเรามีอาการอย่างนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะโมโห จะโกรธ จะสับสน จะหวาดกลัวขนาดไหน ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็จะรู้สึกเช่นเดียวกัน เพราระบบความคิด ความจำ การรับรู้ ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์แตกต่างไปจากคนปกติทั่วไป ผู้ป่วยจึงต้องการ “ความรัก” และ “ความเข้าใจ” จากญาติและผู้ดูแลมากที่สุด
5 สิ่งที่ผู้ดูแลต้อง “เข้าใจ” ในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ได้แก่
“เข้าใจ” ว่าผู้ป่วยมีปัญหาด้านความจำ และจะลืมเรื่องราวต่างๆในอดีต หรือเหตุการณ์ที่เพิ่งขึ้นเมื่อไม่นาน ดังนั้น การพูดเรื่องเดิมๆ ถามเรื่องซ้ำๆจึงเป็นเรื่องปกติ
“เข้าใจ” ว่าความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เช่น ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำให้ ผู้ป่วยอาจมองเห็นไม่ชัด ได้ยินไม่ชัด จึงไม่เข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสาร ดังนั้น เราอาจต้องพูดดังขึ้น พูดย้ำ และอธิบายมากขึ้น
“เข้าใจ” ว่าผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการได้ทั้งหมด ทำให้บางครั้งผู้ป่วยเกิดความหงุดหงิด โมโห สับสน ก้าวร้าว ดังนั้น จึงต้องช่วยผู้ป่วย โดยหมั่นสังเกตุดูแลสภาพร่างกายผู้ป่วย และสภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต
“เข้าใจ” ว่าผู้ป่วยมีความรู้สึกเหมือนเราทั่วไป บางวันรู้สึกดี บางวันรู้สึกไม่ดี ดั้งนั้น การกระทำหรือพฤติกรรมของผู้ป่วยอาจขึ้นๆลงๆแล้วแต่อารมณ์และแรงกระตุ้นจากภายนอก
“เข้าใจ” ว่าผู้ป่วยมีความรู้สึก และความคิดเหมือนคนปกติ เพียงแต่มีความบกพร่องด้านการรับรู้ สื่อสาร ตีความหมาย ดังนั้น การดูแลด้วย “ความรัก” และให้ “ความอบอุ่น” จึงเป็นพื้นฐานการดูแลที่สำคัญที่สุด
เหนือสิ่งอื่นใด ญาติและผู้ดูแลต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทุกรายมี “คุณค่าและศักดิ์ศรี” ของตนเอง เช่นเดียวกับคนเราทุกคน ไม่ว่าผู้ป่วยจะรับรู้ จดจำ สิ่งรอบตัวได้มากน้อยแคไหน หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างไร ผู้ป่วยยังคงความเป็นคน ยังมีคุณค่า ยังมีศักดิ์ศรี และยังมีอดีตที่น่าจดจำและควรแก่การเคารพนับถือ ดังนั้น ญาติหรือผู้ดูแลควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์เฉกเช่นบุคคลสำคัญตลอดเวลา
บทความ โดย เพ็ญศิริ ปันยารชุน
084 362 3145 Email pensiri@absoluteliving.co.th
วิทยากร หลักสูตร exclusive การอบรมการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์
บริษัท แอบโซลูท ลิฟวิ่ง(ไทยแลนด์) จำกัด
www.absolutelivingthailand.com
www.facebook.com/AbsoluteLivingThailand
กระดูกพรุน เกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เนื่องจากมวลกระดูกลดน้อยลง และสามารถเกิ
การนวดเอวและหลังช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เคล็ดขัดยอก กระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น
ในผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผิวเริ่มจะแห้งมากขึ้น และเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ผิวมักจะแห้งกร้านมาก และมี
นอกจากโรคประจำตัวแล้ว ผู้สูงอายุก็มักมีอาการเจ็บป่วยอยู่เรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นอาการต่าง
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ ผิวหนังจะเริ่มเหี่ยวลง และอาจมีอาการคันมาก มีผื่นขึ
แคลเซียม มีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างกระดูกและฟันของคนเรา และมีความสำ