คนเราทุกคนมีภาระหน้าที่ของเราในแต่ละวันแตกต่างกันออกไป เริ่มตั้งแต่ตื่นเช้า อาบน้ำ รับประทานอาหาร ทำงานหรือเรียนหนังสือ เดินทาง จนกระทั่งเข้านอน เรามีงานอดิเรกทำเพื่อผ่อนคลาย มีการพบปะเพื่อนฝูง มีความสามารถพิเศษต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตของเราแต่ละคนมีคุณค่าและมีความหมายในทุกๆวัน
แต่ในโลกของผู้ป่วยอัลไซเมอร์หรือผู้ป่วยสมองเสื่อมในแต่ละวันของเขาจะเต็มไปด้วยความสับสน ความเบื่อหน่าย และความซึมเศร้า เนื่องจากอาการของโรค ทำให้ความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยถดถอยลง เมื่อทำไม่ได้อย่างที่เคยทำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะหยุดทำ และอยู่นิ่งเฉย ซึ่งการปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่เฉยๆ เป็นเวลานาน จะส่งผลให้ผู้ป่วยขาดความกระตือรือร้น ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดความสนใจในสิ่งรอบตัว และสามารถส่งผลให้อาการป่วยทรุดหนักเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
จากการศึกษาวิจัยพบว่า เมื่อผู้ป่วยมีโอกาสได้ทำกิจกรรมในสิ่งที่ตนเองคุ้นเคยเป็นประจำจะส่งผลทางบวกต่อผู้ป่วยดังนี้
- กิจกรรมที่คุ้นเคยช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยสามารถระลึกถึงสิ่งที่เคยสนใจและความสำเร็จในอดีต
- ผู้ป่วยมีสมาธิ และสามารถควบคุมอารมณ์ให้นิ่งอยู่ได้ในระหว่างทำกิจกรรม
- ช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าแต่ละวันนั้นมีความหมาย ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตชีวามากขึ้น
- ช่วยลดความกลัว หดหู่ และความวิตกกังวล
- ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับตนเองเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น
- ช่วยลดความเสี่ยงหรือโอกาสในการเกิดพฤติกรรมไม่เหมะสม เช่น เดินหนีจากบ้าน
- ช่วยสร้างความเพลิดเพลินและสร้างคามสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล
ผู้ดูแลไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั่งหรือนอนอยู่เฉยๆเป็นเวลานานๆ ผู้ดูแลควรจัดให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมทำในทุกๆวัน กิจกรรมที่ว่านี้ ไม่ใช่งานอดิเรกเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง กิจวัตรประจำวันทุกอย่างที่ผู้ป่วยเคยทำได้ในอดีต ตั้งแต่การเก็บที่นอน อาบน้ำ แปรงฟัน ทานอาหาร ซึ่งกิจวัตรประจำวันเหล่านี้ ด้วยความหวังดี ผู้ดูแลมักจะทำให้ผู้ป่วยเสียเอง เมื่อเห็นว่าผู้ป่วยเริ่มทำด้วยตนเองไม่ได้ดี ซึ่งหากผู้ดูแลไม่กระตุ้นให้ผู้ป่วยทำเองต่อไป จะส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถกระทำกิจกรรมนั้นได้อีกเลย
นอกเหนือจากกิจวัตรประจำวัน กิจกรรมเสริมทักษะเพื่อการพัฒนาสมองก็มีประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้ฝึกใช้สมองในแต่ละวัน เพื่อคงความสามารถของสมองไว้ให้นานที่สุด กิจกรรมเสริมทักษะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ การออกกำลัง งานอดิเรก และ เกมส์ต่างๆ ในส่วนของการออกกำลัง ผู้ป่วยอัลไซเมอร์แต่ละรายอาจมีความสนใจในกีฬาหลากหลายประเภทแตกต่างกัน ผู้ดูแลควรเลือกชวนผู้ป่วยเล่นกีฬาที่ถนัดหรือสนใจ เช่น โยนเปตอง เล่นแบต ถีบจักรยาน ทั้งนี้ผู้ดูแลต้องช่วยควบคุมความเหมาะสมของการเล่น คือ ไม่หักโหมจนเกินไป หลีกเลี่ยงกีฬาที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เช่น ปีนเขา ยิงปืนและหมั่นสังเกตุอาการผู้ป่วยไม่ให้เหนื่อยมากจนเกินไป
สำหรับงานอดิเรก ผู้ดูแลสามารถชักชวนให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ผู้ป่วยมีความถนัดหรือชอบในอดีต เช่น ผู้ป่วยอาจจะมีความสามารถพิเศษด้านการวาดรูป ควรชวนผู้ป่วยวาดภาพบนกระดาษ หรือบนขวดแก้ว แจกัน อาจชวนผู้ป่วยที่เคยเป็นแม่ครัวทำอาหาร หรือหากผู้ป่วยชอบปลูกต้นไม้ ก็ชวนผู้ป่วยปลูกต้นไม้ หรือดอกไม้ต่างๆในช่วงที่แดดไม่ร้อนจัด
กิจกรรมประเภทเกมส์เพื่อพัฒนาสมอง ผู้ดูแลสามารถประยุกต์เกมส์ง่ายๆและชวนผู้ป่วยเล่นได้หลายอย่าง เกมส์หรือกิจกรรมที่แนะนำสำหรับพัฒนาสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 10 อย่างได้แก่
- เล่นไพ่
- เกมส์โดมิโน
- เกมส์จับคู่ภาพเหมือน
- เกมส์ต่อภาพ Jigsaw
- เกมส์ Sudoku
- เกมส์ใบ้คำ
- เกมส์บิงโก
- เกมส์โยนลูกบอลใส่ห่วง
- เกมส์ขยับจังหวะดนตรี
- เกมส์ระลึกเพลงในอดีต
สิ่งที่พึงปฏิบัติในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์
- ผู้ดูแลควรร่วมทำกิจกรรมกับผู้ป่วยตลอด อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยทำคนเดียว
- ควรทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ
- ควรเลือกทำกิจกรรมในช่วงเช้า หรือ บ่ายต้นๆ ควรงดกิจกรรมในช่วงบ่ายแก่ๆ หรือเย็น
- ปรับบรรยากาศในห้องกิจกรรมให้เหมาะสม สว่าง ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ไม่มีเสียงดัง
- อย่าทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น เปิดทีวี และทำกิจกรรมไปพร้อมๆกัน
- จัดเวลาทำกิจกรรมไม่ควรเกิน 30 นาที ต่อ 1 กิจกรรม ทั้งนี้ อาจมากหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้ป่วย
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ดูแลควรระลึกไว้ คือ การทำกิจกรรมทุกอย่างให้เน้น ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางเสมอ ดูที่ความพร้อมของผู้ป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ในบางกิจกรรมที่ผู้ป่วยเคยชอบทำ และทำเป็นประจำ ในบางวัน ผู้ป่วยอาจไม่สนใจ และไม่ให้ความร่วมมือ ก็ไม่ต้องบังคับ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ร่วมทำกิจกรรมอย่างมีความสุขและได้ประโยชน์มากที่สุด
บทความ โดย เพ็ญศิริ ปันยารชุน
084 362 3145 Email : pensiri@absoluteliving.co.th
วิทยากร หลักสูตร exclusive การอบรมการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์
บริษัท แอบโซลูท ลิฟวิ่ง(ไทยแลนด์) จำกัด
www.absolutelivingthailand.com
repliky hodinek www.facebook.com/AbsoluteLivingThailand
การศึกษา เป็นสิ่งที่คนเราทุกคนขวนขวาย แม้หลายคนจะไม่ชอบศึกษาในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ย่
THAI SMILE NURSING HOMEสถานฟื้นฟู ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ให้บริการด้วยคุณภ
ในช่วงวัยสูงอายุ เป็นช่วงที่มีเวลามากที่สุด เพราะไม่ต้องทำงานใดๆ และอาจต้องการใช้ชีวิตในบั้นปลายไปกับ
ยา เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับผู้สูงอายุเสมอ เรามักพบเห็นว่า ผู้สูงอายุแต่ละท่านจะมียาประจำของตนเอง หร
แม้ว่าจะอยู่ในวัยสูงอายุ แต่ผู้สูงอายุเองก็สามารถดูแลตนเองได้มากกว่าที่คุณคิด การ
ผู้สูงอายุ เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น ย่อมมีโรคภัยต่างๆ ตามมา หรือมีอาการเจ็บป่วย รู้สึกไม่ดีอยู่บ่อยครั้